thai export professional

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

เงินบาทแข็งทะลุ 30 จีดีพี หด


Bookmark and Share




จ๊าก! บาทแข็งทะลุ30 เอกชนฉุนธปท.ไม่"อุ้ม" ขู่ลอยแพปลดพนักงาน คาด"ส่งออก-จีดีพี"หด

บาทแข็งทะลุมาถึงระดับ 30 แล้ว ล่าสุดหลุด 31 แตะระดับ 30.86 บาทต่อดอลลาร์ ภาคเอกเชนโวยแหลกแบงก์ชาติไม่ทำอะไร ซ้ำยังเป็นต้นเหตุทำให้เงินไหลเข้า ด้วยการประกาศจะปรับขึ้นดอกเบี้ย อีก หอการค้า ขู่หากบาทแข็งต่อไปอีก บางธุรกิจอาจจะต้องปิดกิจการ-ปลดพนักงาน
สถานการณ์ค่าเงินบาทในตลาดการเงินล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กันยายน หลุดจากระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ลงไปเรียบร้อยแล้ว โดยนักค้าเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบีไทยรายงานว่า การซื้อขายเปิดตลาดที่ 30.86-30.88 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 30.89-91 บาท ต่อดอลลาร์ จากปัจจัยหลักเดิมคือ การไหลเข้าของเงินต่างชาติ ซึ่งยังคงทำให้เงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้อีก เนื่องจากแบงก์ชาติยังไม่แสดงท่าทีใดๆกับเรื่องนี้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การที่เงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 31 บาท/ ดอลลาร์ ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย ซึ่งได้ให้แนวทางกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ไปแล้วว่า สามารถพิจารณาใช้มาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกได้ หากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แนวโน้มเงินบาทยังแข็งค่าอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า จะแข็งถึงระดับ 29 บาทหรือไม่
ด้านนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าการปรับตัวของค่าเงินบาทช่วงนี้ คงเป็นไปตามกลไกตลาดในภูมิภาคเอเชีย ที่มีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเงินบาทของไทยไม่แตกต่างไปจากค่าเงินในภูมิภาคเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจนัก ทั้งนี้เชื่อว่า ทางธปท. น่าจะมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพออกมาควบคุมได้ หากค่าบาทปรับตัวผันผวนรุนแรง
นายสมพันธ์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ลูกค้าของธนาคารฯยังไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ขณะนี้เริ่มมีการขาดทุนแล้ว และหากแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่าไปเรื่อยๆภายใน 1 ถึง 2 ปี ลูกค้าที่เป็นผู้ส่งออกต้องล้มหายตายจากไปโดยเฉพาะบริษัทที่มีทุนน้อย
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ธปท.ควรออกมาส่งสัญญาณดูแลค่าเงินบาทให้ชัดเจนขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการระบุเพียงว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่กระทบกับการส่งออก รวมทั้งยังมีการส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ทั้งนี้ ธปท. ควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความร้อนแรงของเงินบาท รวมทั้งนำมาตรการดูแลการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยใช้มาตรการเก็บภาษี จากส่วนต่างกำไรค่าเงิน 5-10 % สำหรับเงินที่เข้ามาลงทุนในไทยน้อยกว่า 3-6 เดือน
"การประกาศขึ้นดอกเบี้ย ยิ่งทำให้เงินลงทุนยิ่งไหลเข้า และหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น อีก เห็นได้จากมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ มากกว่า 50,000 ล้านบาท หากค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว หลุดกรอบ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงไตรมาสที่ 4 จะทำให้สูญเสียรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างน้อย 100,000 ล้านบาท และทำให้ จีดีพี ในไตรมาส 4 หดตัว 1% ส่งผลให้ จีดีพี ทั้งปี 2553 ขยายตัวไม่ถึง 7 % และกระทบต่อเนื่องไปถึงปี 2554 เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท จะทำให้ส่งออกหดตัว 3 % มูลค่าการส่งออกหายไป 200,000-300,000 ล้านบาท " นายธนวรรธน์ กล่าว



backlinks free

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น